ประกันคุณภาพการศึกษา คณะศิลปศาสตร์
Quality of Education Faculty of Liberal Arts

ประวัติความเป็นมา

คณะศิลปศาสตร์มีภารกิจหลักในการให้บริการการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปให้กับมหาวิทยาลัย จำนวน ๑๘ รายวิชา แบ่งเป็นกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ ๔ รายวิชา กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์ ๖ รายวิชา กลุ่มวิชาภาษา ๗ รายวิชา กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ๑ รายวิชา และรายวิชาเลือกเสรี ๓๖ รายวิชา ปัจจุบันมีการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี ๒ หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์บูรณาการ โดยเปิดสอนตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๘ เป็นต้นมา สามารถผลิตบัณฑิตได้ ๓ รุ่น จำนวน ๑๙๓ คน และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ เปิดสอนตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๐ และคณะได้เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคมและมนุษย์ ในภาคการศึกษาที่ ๑/๒๕๕๔ นอกจากนี้ในปีการศึกษา ๒๕๕๔ คณะมีแผนที่จะเปิดหลักสูตรปริญญาโทสาขาภาษาเพื่อการพัฒนา รวมทั้งการเสนอบรรจุหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติเข้าสู่แผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ เนื่องจากในปัจจุบันภาษาไทยกำลังได้รับความนิยมของชาวต่างชาติและเพื่อการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและเป็นการตอบสนองแนวทางการพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยที่เน้นการผลิตบัณฑิตเฉพาะทางระดับบัณฑิตศึกษาและวิจัย (ค๒ เป็น ค๑) สำหรับในปีการศึกษา ๒๕๕๕ คณะมีแผนที่จะเปิดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสุขภาพชุมชน เพื่อเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางศาสตร์การพัฒนาสุขภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดสมรรถนะความเข้มแข็งของคนในชุมชน

คณะศิลปศาสตร์มุ่งมั่นที่จะดำเนินการบริหารงานภายใต้นโยบายและทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัย ที่เน้นการผลิตบัณฑิตเฉพาะทางระดับบัณฑิตศึกษาและวิจัย ซึ่งแนวทางที่คณะได้ดำเนินการส่งเสริมและผลักดันการเปิดหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา และสนับสนุนให้บุคลากรสายวิชาการได้พัฒนาตนเองผลักดันให้มีการศึกษาในระดับปริญญาเอกและการขอตำแหน่งทางวิชาการ โดยในปีการศึกษา ๒๕๕๓ คณะได้ส่งบุคลากรศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกจำนวน ๒ คน และมีคณาจารย์ได้รับตำแหน่งทางวิชาการในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ เพิ่มขึ้นจำนวน ๑ คน สำหรับการบริหารงานในปีงบประมาณต่อไปยังคงเน้นการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง และคณะจะได้ปรับแผนพัฒนาบุคลากรใหม่ตามแผนพัฒนาบุคลากรมหาวิทยาลัยระยะ ๔ ปี (พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๕๖) ที่เน้นพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรด้วย Competency Model นอกจากนี้คณะศิลปศาสตร์ยังได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรสายสนับสนุน ซึ่งในปีงบประมาณ ๒๕๕๓ ได้ส่งบุคลากรของสำนักงานคณบดีเข้าอบรมตามสายงานเพื่อให้บุคลากรสามารถพัฒนาศักยภาพในการทำงานอย่างทั่วถึงจำนวน ๙ คน ภายใต้งบประมาณกองทุนพัฒนาบุคลากรทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน ที่คณะฯได้จัดสรรเพื่อการพัฒนาบุคลากรมากถึงร้อยละ ๘ ของงบประมาณทั้งหมด

ประวัติคณะศิลปศาสตร์

คณะศิลปศาสตร์ได้ปรับโครงสร้างจากการเป็นภาควิชาศึกษาทั่วไป คณะธุรกิจการเกษตร ที่ประกอบด้วย 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเลขานุการ ภาควิชาศึกษาทั่วไป ภาควิชาบริหารธุรกิจและการตลาดการเกษตร ภาควิชาเศรษฐศาสตร์และสหกรณ์การเกษตร และภาควิชาส่งเสริมการเกษตร หลังจากนั้นได้รับการอนุมัติจัดตั้งโดยผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๘ ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งโอนย้ายบุคลากรในสังกัดภาควิชาศึกษาทั่วไปมาสังกัดคณะศิลปศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๘

รายชื่อคณบดีคณะศิลปศาสตร์

ชื่อ ระยะเวลาเข้ารับตำแหน่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวลักษณ์ ชายทวีป ตุลาคม ๒๕๔๘ ตุลาคม ๒๕๕๒

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ ไตรแสง ตุลาคม ๒๕๕๒ ปัจจุบัน

คณะศิลปศาสตร์มีภารกิจหลักในการให้บริการการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ๒ หลักสูตร คือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษ และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์บูรณาการ หลักสูตรปริญาญญาโท จำนวน ๑ หลักสูตร คือ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคมและมนุษย์ และรายวิชาศึกษาทั่วไปของคณะที่เปิดสอน

ปรัชญา

ความรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นำไปสู่ความเข้าใจสังคม คุณค่าความเป็นมนุษย์ คุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม การใช้เหตุผลในการสื่อสาร การวิเคราะห์ชีวิตและการพัฒนาสังคมได้อย่างสร้างสรรค์

วิสัยทัศน์

เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่สร้างงานวิจัยและเครือข่ายทางวิชาการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ และผลิตบัณฑิตที่รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล มีความสามารถในการสื่อสาร รับผิดชอบ มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม และรู้จักใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

พันธกิจ

๑. ด้านการเรียนการสอนและนักศึกษา : จัดการเรียนการสอนและผลิตบัณฑิตทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

๒.ด้านการวิจัย : ส่งเสริมการผลิตและเผยแพร่งานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ตลอดจนสร้างความร่วมมือทางด้านงานวิจัยในระดับชาติ และระดับนานาชาติ

๓.ด้านการบริการวิชาการแก่สังคม:จัดให้มีระบบการบริการวิชาการแก่สังคม

๔.ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม : ดำรงศิลปวัฒนธรรมและรักษาระบบนิเวศของทรัพยากรธรรมชาติ

๕.ด้านการบริหาร : การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล